วัสดุที่ใช้ในการลงสี



วัสดุและ อุปกรณ์ ที่ใช้ในการลงสี

          งานช่างเป็นงานที่ต้องใช้อุปกรณ์และวัสดุในการปฏิบัติงาน การลงสีผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูปเป็นงานหนึ่งที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์และวัสดุ เพื่อให้งานดังกล่าวบรรลุตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ ถ้าขาดเครื่องมือหรืออุปกรณ์บางอย่างไปในขณะที่ทำงาน ก็อาจจะทำให้งานดังกล่าวเกิดความล่าข้า จนอาจจะทำให้งานไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ดังนั้นจึงขอแนะนำอุปกรณ์และวัสดุ ดังต่อไปนี้

1. วัสดุที่ใช้ในการลงสีมีดังต่อไปนี้

#A1
กาว หรือ วัสดุประสาน  (Glue)
         
  กาว หมายถึงวัสดุที่เราใช้ซ่อมแซม หรือติดวัตถุ 2 ชิ้นเข้าด้วยกัน กาวที่ใช้โดยทั่วไปในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่เป็นกาวสังเคราะห์ ซึ่งมีให้เลือกมากมายหลายชนิดและมีสมบัติเหมาะสมในการใช้ติดวัตถุแตกต่างกันส่วนกาวที่ใช้สำหรับงานไม้ซึ่งเป็นที่นิยมได้แก่
กาวลาเท็กซ์ เป็นกาวที่มีสีขาวขุ่นๆ เป็นกาวที่จะต้องใช้เวลาพอสมควรเพื่อรอให้ตัวกาวแห้ง กาวชนิดนี้มีจุดเด่นคือมีราคาถูก ใช้งานง่าย และไม่แห้งไว จึงเหมาะที่จะใช้ผสมกับขี้เลื่อยละเอียดเพื่อทำขี้โป้ว ที่ใช้ในการอุดรอยไม้ รอยตะปู
          กาวร้อน เป็นกาวน้ำสีใส ใช้อุดรอยไม้ได้โดยใช้พร้อมกับขี้เลื่อนละเอียด กาวร้อนจะมีการไหลตัวสูงกว่ากาวตราช้างจึงสามารถซึมเข้าตามช่องเล็กๆได้ดีเมื่อกาวแห้ง การขัดกระดาษทรายมักจะเป็นรูพรุน หรือ ผิวไม่เรียบ ให้ หยอดกาวแล้วปาดให้ ทั่วๆ แล้วทำการขัดอีกครั้ง จะทำให้ผิวไม้เนียนและเรียบ
ข้อควรระวัง

#A2
ขี้เลื่อยละเอียด หรือ ฝุ่นไม้ (Wood dust)
         
ได้จากการขัดไม้โดยใช้กระดาษทรายมีสีออกน้ำตาลเป็นผงละเอียดก่อนที่จะนำมาใช้จะผสมกับกาวลาเท็กซ์ ฝุ่นสี ก่อนที่จะนวดให้เข้ากัน และมีอีกวิธีคือ การใช้กับกาวร้อน โดยการหยอดกาวร้อนที่รอยไม้ก่อนที่จะโรยขี้เลื่อยละเอียดลงไปทำให้ไปอุดรอยไม้ที่เป็นรอยตำหนิได้

#A3
ดินสอพอง (Soft-prepared chalk)

ดินสอพองผสมน้ำมีประโยชน์ในการถมเสี้ยน เมื่อผสมกับสีฝุ่น เราสามารถปรับสีชิ้นงานได้ตามต้องการ การผสมสีให้รู้จักสังเกตเปรียบเทียบกับสีไม้จริง ความต่างของสีในงานเฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัวแต่ละชิ้นสามารถต่างกันได้เล็กน้อยเพราะเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นจะแยกจากกันสีฝุ่นหลักที่ใช้ในการผสมมีสามสี คือ สีแดง สีเหลือง สีดำ โดยสีดำใช้ในการลดความเข้ม ความ สว่างของงาน การผสมสามารถผสมวัตถุดิบได้เลยไม่มีลำดับก่อนหลัง ผสมให้ข้นพอเหมาะ การย้อมด้วยวิธีนี้สีเฟอร์นิเจอร์จะไม่ซีด คงทน การย้อมสีไม้ควรทำครั้งเดียว เพราะไม้จะอิ่มตัวตั้งแต่ครั้งแรก การย้อมซ้ำจะทำให้ชิ้นงานมีรอยด่างได้
การทาดินสอพองเพื่อถมเสี้ยนให้ทาที่ชิ้นงานแล้วเช็ดออกทันทีไม่ควรปล่อยให้แห้ง การเช็ดให้เช็ดขวางลายไม้ หรือเช็ดวงเป็นวงกลม ผ้าที่ใช้ควรใช้เศษผ้าสีขาว ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผ้าสีเนื่องจากสีจากผ้าอาจตกใส่ชิ้นงานได้ถ้าไม่ต้องการย้อมไม้ ให้ใช้ดินสอพองเปล่าๆในการถมเสี้ยน การลงดินสอพองบนชิ้นงาน ชิ้นงานนั้นต้องไม่ผ่านขั้นตอนใดๆมาก่อน แม้กระทั่งการทาเชลแล็ก เพราะจะถมเสี้ยนไม่ติด

#A4
เชลแล็ก (Shellac)

          วัสดุที่ใช้ในงานไม้มีอยู่มากมายหลายชนิด แต่ชนิดที่มาจากพืชได้แก่ ไม้ ไม้สัก ไม่ไผ่ เมื่อนำมาทำประโยชน์ในงานตกแต่งต่างๆ ตลอดจนงานเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ตกแต่งอาคารให้เกิดความสวยงามได้แก่ ตู้เสื้อผ้า โต๊ะทำงาน เตียง ชุดรับแขก เป็นต้น ซึ่งสิ่งของที่กล่าวมานี้ ล้วนแล้วแต่จะต้องมีการตกแต่งเคลือบผิวให้มีความสวยงาม มีความคงทนต่อการกัดกินของแมลง ปลวก มอด ไม้บางชนิดจะมียางในเนื้อไม้ไหลซึมออกมา ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาวัสดุมาทาเคลือบผิวไม้หรือทาเพื่อรองพื้น เพื่อให้ไม้ดังกล่าวมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน วัสดุที่เคลือบผิวได้แก่ เชลแล็ก
ชนิดของเชลแล็ก
          เชลแล็กเป็นของเหลวที่มีความข้นและเหนียวคล้ายยางที่ได้จากสัตว์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ครั่ง ซึ่งอาศัยอยู่ตามต้นไม้ทางภาคเหนือของประเทศไทย ในประเทศอินเดียและแถบตัววีนออกเฉียงใต้ของเอเชียนำเชลแล็กมาผ่านกรรมวิธีโดยให้ความร้อน เพื่อทำให้เป็นแผ่นบางๆ คล้ายกระดาษแก้วแต่มีสีเข้มคล้ายสีของน้ำชาแก่ และเป็นเม็ดเล็กๆ คล้ายเม็ดทรายหยาบกับทรายละเอียด จากนั้นนำมาแช่ลงในแอลกอฮอล์ เพื่อเปลี่ยนรูปเป็นของเหลว นำไปใช้ทาเคลือบผิวไม้และวัสดุอื่นๆ ที่มาจากพืช ถ้าผสมกับแอลกอฮอล์จนมีความข้นเหลวที่พอเหมาะ จะทาเคลือบผิวไม้ได้ง่ายและแห้งเร็ว เมื่ออากาศค่อนข้างร้อนการทาเชลแล็กหลายๆครั้ง จะทำให้ผิวไม้เงางามเป็นมันลื่น แต่เชลแล็กไม่สามารถป้องกันน้ำได้ฉะนั้นเมื่อเฟอร์นิเจอร์ไม้ถูกน้ำหรือความชื้นมากๆ  จะเป็นรอยด่างขาวบนผิวของเชลแล็กที่ทาเอาไว้ในปัจจุบันมี 2 ชนิดคือ เชลแล็กชนิดสีขาว (White shellac) และ เชลแล็กชนิดเกร็ด (Orange shellac)
1) เชลแล็กสีขาว
          เชลแล็กสีขาว ลักษณะเป็นผงและเป็นเม็ดปะปนกันมีสีเหลืองปนน้ำตาลอ่อนๆ คล้ายเม็ดทรายมีขนาดเล็กตั้งแต่เป็นผงโตขึ้นมาเท่าทรายละเอียด ทรายกลาง และทรายหยาบ ถ้าเก็บไว้นานๆ จะจับกันเป็นก้อนใหญ่ นิยมเรียกสั้นๆว่า เชลแล็กขาว ใช้แช่ลงในเมทิลแอลกอฮอล์ 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ละลายกลายเป็นน้ำ เชลแล็กขาวเป็นสีน้ำตาลอ่อนจะนิยมใช้ทาเคลือบผิวไม้สัก เพื่อป้องกันยางในเนื้อไม้สักไหลซึมออกมาหลังจากที่ทาสีน้ำมันเคลือบผิวไม้สักแล้ว เชลแล็กขาวใช้ทารองพื้นไม้เพื่อเคลือบผิวไม้ให้เป็นสีไม้ตามธรรมชาติก่อนที่จะทาแลกเกอร์เงาหรือแลกเกอร์ด้านทับหน้า เชลแล็กสีขาวที่แช่ไว้ในเมทิลแอลกอฮอล์เป็นเวลานาน จะเปลี่ยนสีให้เข้มขึ้นจากสีเหลืองปนน้ำตาลเป็นสีคล้ายน้ำชาแก่ๆ หรือสีคล้ายน้ำปลาลอยอยู่ส่วนบน ส่วนล่างจะเป็นเชลแล็กสีขาวที่ตกตะกอน ก่อนนำมาใช้งานต้องคนให้เข้ากัน
2) เชลแล็กเกล็ด
          เชลแล็กเกล็ด ลักษณะเป็นเกล็ดแผ่นบางๆ คล้ายกระดาษแก้วสีน้ำชาเข้ม เพื่อให้ผิวไม้เป็นสีเดียวกันในลักษณะย้อมผิวไม้ ถ้าแช่ไว้ในเมทิลแอลกอฮอล์นานๆ เป็นเดือนเป็นปีจะมีกลิ้นออกขื่นๆและสีของแอลกอฮอล์จะเข้มขึ้น
          ปัจจุบันในระดับโรงงานอุตสาหกรรมยังนิยมใช้เชลแล็กสีขาวที่เป็นผงแล้วมาผสมกับเมทิลแอลกอฮอร์ 100 เปอร์เซ็นต์มากกว่าโดยใช้อัตราส่วนเชลแล็ก 1 กิโลกรัม ต่อ เมทิลแอลกอฮอร์ 1 ปี๊บ หรือ 10 กิโลกรัม  หากแต่ผู้ที่จะใช้ทาเฟอร์นิเจอร์ในครัวเรือนต้องการความสะดวกสบายสามารถหาซื้อเชลแล็กสำเร็จรูปที่วางจำหน่ายหลากหลายยี่ห้อมาใช้งานได้
การเก็บรักษา
เชลแล็กที่จำหน่ายตามท้องตลาด นิยมบรรจุในถุงกระดาษสีน้ำตาลปิดปากถุงโดยพับให้เรียบร้อย ใช้เชือกฟางผูกมัดให้แน่น มีการแบ่งจำหน่ายกิโลกรัม โดยแบ่งใส่ถุงพลาสติกพร้อมปิดผนึกปากถุงเรียบร้อยใช้เชือกฟางผูกปิดถุงทับอีกครั้ง โดยจะมีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม เมื่อซื้อมาจากร้านค้าแล้วควรนำเก็บไว้ในตู้หรือในถังปิดฝาให้สนิท เพื่อป้องกันความชื้นซึมเข้าไปในเชลแล็กดังกล่าว ซึ่งจะมีผลทำให้เชลแล็กจับกันเป็นก้อนๆ ถ้าเก็บไว้ในที่ที่เหมาะสม อากาศและความชื้นจะเข้าไปในถุงไม่ได้ ความเป็นเม็ดหรือเกล็ดจะคงอยู่นานเมื่อนำไปใช้งานก็จะละลายในเมทิลแอลกอฮอล์ได้ง่าย
ตัวทำละลายของเชลแล็ก ได้แก่ เมทิลแอลกอฮอล์ (ซึ่งได้อธิบายไว้ใน #A7)
ภาชนะที่ใช้ในการใส่เชลแล็ก
ตามปกติเมทิลแอลกอฮอล์จะทำปฏิกิริยากับโลหะ ดังนั้นในการใช้ภาชนะเพื่อการผสมเชลแล็กกับเมทิลแอลกอฮอล์จึงนิยมใช้ภาชนะที่เป็นอโลหะ เช่น โอ่งดินหรือโอ่งมังกร แล้วปิดให้สนิทแต่เนื่องด้วยโอ่งมังกรนั้นมีขนาดที่ใหญ่และมีน้ำหนัก โรงงานอุสาหกรรมจึงใช้ถังพลาสติกมาใช้ผสม หรือ แช่เชลแล็กและเมทิลแอลกอฮอล์ได้ หรือหากจะใช้ในปริมาณที่น้อย ภาชนะที่โรงงานในอำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ นิยมทำกันได้แก่ นำแกลอนที่มีหูจับมาตัดปากเพื่อให้ได้สัดส่วนแล้วสามารถใช้เป็นภาชนะที่หิ้วและนำไปทาได้สะดวก

#A5 , #A6
แลกเกอร์ (Lacquer)

วัสดุที่ใช้ในงานไม้ และ งานเฟอร์นิเจอร์ไม้มีอยู่มากมายหลายชนิด แต่ชนิดที่มาจากพืชได้แก่ ไม้ ไม้สัก ไม่ไผ่ เมื่อนำมาทำประโยชน์ในงานตกแต่งต่างๆ ตลอดจนงานเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ตกแต่งอาคารให้เกิดความสวยงาม มีความคงทนถาวร ทนปลวก มอด เชื้อรา และแมลงต่างๆ เพื่อให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานคุ้มค่ากับการจ่ายเงินเพื่อการซื้อหามา ดังนั้นจำเป็นที่ต้องเคลือบผิวไม้ด้วยการทาแลกเกอร์
          แลกเกอร์ (Lacquer) เป็นวัสดุที่เหมาะกับการเคลือบผิวไม้ ลักษณะเป็นของเหลวที่มีความข้นเหนียว คล้ายน้ำมันพืช หรือน้ำมันหมู มีกลิ่นหอมชวนสูดดม ถูกค้นพบครั้งแรกในประเทศจีน ประมาณก่อน ค.ศ. 3000 ในปัจจุบันการผลิตแลกเกอร์จะประกอบด้วยไนโครเซลลูโลส ซึ่งได้จากการเตรียมฝ้ายกับไนทริก และกรดซัลฟูริกกับตัวทำละลาย อันประกอบด้วยอะซิโทน อะมิลอะซิเตต บิวทีลอะซิเตต อีทิลซิเตตและสารอื่นๆที่จะช่วยให้การแห้งตัวเร็ว ทนทานต่อความร้อน ความเย็น ไม่แตกร้าวง่าย นิยมนำมาทาหรือพ่นเคลือบ ผิวไม้หลังจากที่ทาเชลแล็กแห้งแล้ว เพื่อให้ผิวของไม้มีความคงทน สวยงาม ทนน้ำ และความชื้น
          งานไม้นิยมใช้แลกเกอร์ทาเคลือบไม้ เพื่อให้เงินความสวยงาม ทนน้ำ ทนการขีดข่วน ทำความสะอาดได้ง่าย รักษาเนื้อไม้ให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน แลกเกอร์ที่ใช้ทาเคลือบผิวไม้มี 2 ชนิดได้แก่ แลกเกอร์ด้าน และ แลกเกอร์เงา การเลือกใช้แลกเกอร์ชนิดใดนั้น ขึ้นอยู่กับรสนิยมของบุคคลคนนั้น บางคนชอบความเงางาม ก็ต้องใช้แลกเกอร์เงา ส่วนคนที่ชอบความเรียบง่ายก็ใช้แลกเกอร์ด้าน งานบางอย่างถ้าทาเคลือบผิวไม้ด้วยแลกเกอร์ด้านจะดูมีคุณค่า มีราคา เป็นงานที่ประณีต เหมาะกับบุคคลอีกระดับหนึ่ง และหากบางคนชอบกึ่งด้านกึ่งเงาก็สามารถผสมแลกเกอร์ทั้ง 2 ชนิดเข้ารวมกันได้
1) แลกเกอร์ด้าน (Matt Lacquer) #A5
          แลกเกอร์ด้านมีลักษณะเป็นของเหลวที่มีความข้นคล้ายน้ำมันหมูที่มีไข ถ้าตกตะกอนก็จะเป็นสีขาวคล้ายกับไขน้ำมันหมู ถ้าตักเฉพาะส่วนไขขึ้นมาเมื่อทิ้งเอาไว้ให้แห้งจะมีสีขาว ใช้ผสม กับทินเนอร์เมื่อต้องการให้ละลายและมีความใส ใช้ทาหรือพ่นลงพื้นผิวไม้หลังจากทาเชลแล็กแห้งแล้ว ส่วนใหญ่จะใช้ทินเนอร์ผสมเพื่อให้มีความใสและแห้งเร็ว เมื่อทาพื้นผิวไม้จะเกิดเป็นผิวด้าน ที่มีความงดงามไปอีกแบบหนึ่ง
2) แลกเกอร์เงา (Clear Lacquer) #A6
          แลกเกอร์เงา มีลักษณะเป็นของเหลวที่มีความข้นคล้ายน้ำมันพืชที่ไม่มีไข ถ้าตกตะกอนก็จะเป็นสีเดียวกับส่วนบน แต่มีความข้นเหนียวมากกว่า ใช้ผสมกับทินเนอร์เพื่อให้ละลายและมีความใสใช้ทาลงบนพื้นไม่หลังจากทาเชลแล็กแห้งแล้ว แลกเกอร์เงาถ้าผสมกับทินเนอร์ให้มีความใสจะทำให้แห้งเร็ว เมื่อทาหรือพ่นลงบนผิวไม้จะเกิดเป็นเงางดงาม
          แลกเกอร์ที่จำหน่ายในท้องตลาดนิยมบรรจุอยู่ในถังโลหะกลมขนาด 20 ลิตร แกลลอนโลหะกลมขนาด 1 ลิตร และแกลลอนโลหะสี่เหลี่ยมขนาด 0.5 และ 0.25 ลิตร เพื่อให้สะดวกให้การเลือกซื้อตามการใช้งาน การเลือกซื้อเลือกหาแลกเกอร์มาใช้งานควรสอบถามหรือฟังจากคำแนะนำผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการลงสี หรือ เลือกยี่ห้อที่มีคนนิยมใช้กันมาก แม้ว่าจะมีราคาสูงสักหน่อย แต่การนำมาใช้งานจะง่ายและสะดวก
หมายเหตุ แลกเกอร์เป็นผลผลิตที่ทำมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว  เป็นของเหลวที่มีความข้นและเหนียวเมื่อต้องการเจือจางต้องใช้ทินเนอร์เป็นตัวทำละลาย มีบริษัทผู้ผลิตแลกเกอร์บางบริษัทที่ผลิตทั้งแลกเกอร์และทินเนอร์ที่ใช้เป็นตัวทำละลายออกจำหน่ายร่วมกัน เพื่อให้ผู้ใช้แลกเกอร์ได้ใช้แลกเกอร์ที่มีคุณภาพดี สมกับที่ตั้งความต้องการเอาไว้ แต่บางบริษัทก็ผลิตแลกเกอร์ออกมาจำหน่ายในท้องตลาดเพียงอย่างเดียว กรณีดังกล่าวนี้จะต้องใช้ทินเนอร์ทั่วๆไปที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

ข้อควรระวังในการใช้แลกเกอร์ แลกเกอร์เป็นวัสดุที่มีกลิ่นชวนดม ในขณะที่ปฏิบัติงานควรใช้ผ้าปิดจมูก เพื่อป้องกันกลิ่นที่จะมาทำลายสุขภาพได้ มีความไวต่อการลุกไหม้ ไม่จึงจุดไฟ หรือ สูบบุหรี่ขณะที่ปฏิบัติงาน

ตัวทำละลายของแลกเกอร์ ได้แก่ ทินเนอร์  (Thinner) (ซึ่งได้อธิบายไว้ใน #A8)

#A7
เมทานอล (Methanol) หรือ เมทิลแอลกอฮอล์ (Methyl Alcohol)

เมทานอล  หรือ เมทิลแอลกอฮอล์ เป็นของเหลวใส ระเหยง่าย เป็นพิษ นิยมใช้เป็นตัวทำละลาย และใช้เป็นเชื้อเพลิง ในธรรมชาติ เมทานอล  เป็นผลิตภัณฑ์จากการสลายสารอาหารแบบไม่ใช้ออกซิเจนของแบคทีเรียหลายชนิด (ดูการผลิตเมทานอลจากของเสียเพื่อทำเป็นก๊าซชีวภาพ) ซึ่งเมทานอลจะระเหยออกสู่อากาศภายนอก แล้วสลายตัวได้คาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ หากเราเผาเมทานอลกับอากาศ จะได้คาร์บอนไดออกไซด์กับน้ำ
          เมทานอล  หรือ เมทิลแอลกอฮอล์ เป็นตัวทำละลายเชลแล็กผงสีขาวในอุสาหกรรมการแปรรูปไม้เพราะเนื่องจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าซื้อสำเร็จรูป เมทิลแอลกอฮอล์โดยทั่วไปนิยมใช้ในการจุดตะเกียง เมื่อผลิตออกมาตอนแรกจะไม่มีใส คือมีความใสเหมือนน้ำสะอาด แต่มีกลิ่นฉุน เมื่อถูกผิวหนังจะรู้สึกเย็นเพื่อป้องกันการนำมาดื่มกินจึงผสมสีม่วงลงไปให้ดูแล้วไม่น่าดื่มกิน เมทิลแอลกอฮอล์เป็นสารระเหยชนิดหนึ่งที่ผลิตจากสารเคมี มีอันตรายต่อร่างกายถ้าดื่มกินเข้าไปจะเกิดการมึนเมาและจะทำให้ตาบอดได้ในอนาคต
การเก็บรักษา  เก็บสารเคมีในภาชนะที่ปิดสนิท เก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องในที่แห้ง, เย็นและอากาศถ่ายเทได้สะดวก เก็บให้ห่างจากความร้อนและแหล่งกำเนิดประกายไฟ เก็บให้พ้นจากการถูกแสงแดดโดยตรงและอยู่ห่าง จากวัสดุที่เข้ากันไม่ได้ เก็บในภาชนะเดิม อุปกรณ์ไฟฟ้าควรมีการป้องกันตามมาตรฐานที่เหมาะสม

#A8
ทินเนอร์  (Thinner)

ตัวทำละลายของแลกเกอร์ คือ ทินเนอร์ ซึ่งเป็นสานประกอบของเคมีน้ำมันประเภท คีโตน อิซิเตต เอสเทอร์ รวมทั้งสารไฮโดรคาร์บอนอีกหลายชนิด มีลักษณะเป็นน้ำใส ไม่มีสี แต่มีกลิ่นฉุนใช้ผสมสี ใช้ผสมแลกเกอร์ ละลายสีพ่นในงานอุสาหกรรม ใช้ล้างเครื่องมือ ล้างแปรงทาสี ตลอดจนล้างอุปกรณ์ต่างๆ เป็นสารผสมชนิดเอนกประสงค์ ทินเนอร์แบ่งออกเป็นเกรดได้ 3 เกรดคือ
          1. ทินเนอร์เกรดเอ (A) ใช้ในการผสมกับแลกเกอร์ทั่วๆไป ในสภาวะของอากาศที่ปลอดโปร่ง แสงแดดดี มีลมพัดอ่อนๆ อุณหภูมิค่อนข้างสูงประมาณ 33-37 องศาเซลเซียส มีการระเหยตัวได้เร็วพอควร เมื่อถูกผิวหนังจะระคายเคืองเล็กน้อย มีกลิ่นฉุน ไม่มีสี จะใช้ได้ทั้งงานทาสีหรืองานพ่นในภูมิอากาศที่ปลอดโปร่ง แสงแดดนี เหมาะกับงานที่ปฏิบัติในช่วงฤดูร้อนและในที่โล่งแจ้ง ความร้อนของอากาศและแสงแดดจะทำให้ทินเนอร์เกรดเอระเหยได้ง่าย เหมาะกับงานที่ไม่ต้องการความรีบร้อน ปัจจุบันการผลิตทินเนอร์เกรดเอ จะมีสารอย่างอื่นผสมอยู่ เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณและประหยัด ทำให้การระเหยเป็นไปได้ช้ามาก จึงไม่ค่อยนิยมนำมาผสมกับแลกเกอร์แต่จะนำไปใช้ในการล้างเครื่องมือเสียมากกวา
          2. ทินเนอร์เกรดเอเอ (AA) เป็นทินเนอร์ที่นิยมใช้กันมากในการผสมแลกเกอร์ เพราะการระเหยไวกว่าทินเนอร์เกรดเอ กลิ่นฉุนปานกลาง ไม่มีสี จะใช้กับงานพ่นสีรวมไปถึงการล้างเครื่องมือในงานสี เหมาะสำหรับงานในสภาพอากาศที่ปลอดโปร่งพอควร แสงแดดดี ในที่โล่งแจ้งหรือในอาคารที่ไม่อับชื้น ลมพัดผ่ายอ่านๆ อุณหภูมิของอากาศประมาณ 30-35 องศาเซลเซียส เมื่อถูกผิวหนังจะเกิดการระคายเคือง แสบร้อนปานกลาง
          3. ทินเนอร์เกรดเอเอเอ (AAA) เป็นทินเนอร์ที่มีความไวในระเหยมาก กลิ่นฉุนมาก ไม่มีสีเมื่อถูกผิวหนังจะเกิดการระคายเคืองมาก แสบร้อน ใช้ในงานทาสีหรืองานพ่นสีที่ต้องการให้เสร็จไว โดยไม่ต้องคำนึงถึงภูมิอากาศไม่ต้องคำนึงถึงแสงแดด ไม่ต้องมีลมพัดผ่าน เหมาะกับงานที่มีสภาพอากาศชื้น เพราะทินเนอร์ชนิดนี้จะระเหยไวมาก ในขณะปฏิบัติงานต้องระวังเปลวไฟจากมอเตอร์ สวิตซ์ไฟของเครื่องปั้มลม ห้ามสูบบุหรี่ในขณะปฏิบัติงาน เพราะมีความไวต่อไฟมาก
          ทินเนอร์เกรดเอ เกรดเอเอ เกรดเอเอเอ ที่จำหน่ายในท้องตลาด บรรจุอยู่ในปีบโลหะ และแกลลอนโลหะทรงสีเหลี่ยม เพื่อให้เลือกซื้อเลือกหามาใช้ได้ตามความเหมาะสม
ข้อควรระวังในการใช้งานทินเนอร์
          ในขณะที่ปฏิบัติงานให้เปิดฝานอกที่เป็นเกลียวออก ใช้ไขควงปากแบนขนาดกลางค่อยๆ งัดฝาในออกทีละน้อย จนกระทั่งฝาในลอยขึ้นมาเกือบสุดใช้มือดึงฝาในขึ้นมา พยายามอย่าให้ฝาในชำรุดเมื่อทินเนอร์ออกจากปีบหรือแกลลอนแล้วต้องปิดฝาในและฝานอกให้สนิท นำไปตั้งไว้ในที่ร่ม อย่าให้ถูกแสงแดด เพราะจะทำให้ทินเนอร์ระเหยออกไปได้และไม่ควรสูบบุหรี่ขณะที่เปิดฝาหรือเททินเนอร์เพราะทินเนอร์มีความไวต่อไฟมาก
การเก็บรักษา  ในการใช้ทินเนอร์ใช้งานเสร็จต้องปิดฝาให้สนิท เก็บไว้ในที่ที่มีอากาศถ่ายเท เนื่องจากเป็นวัตถุไวไฟ ควรเก็บไว้ให้ห่างจากเปลวไฟ สะเก็ดไฟ สถานที่ที่มีความร้อนมากๆ แสงแดด และมีอุณหภูมิสูง ทินเนอร์เป็นสารพิษห้ามใช้สูดดมหรือรับประทานเด็ดขาด ควรเก็บไว้ในที่ที่เหมาะสมห่างจากมือเด็ก

#A9
ฝุ่นเหลือง ฝุ่นแดง ฝุ่นดำ (Powder coat)

สีฝุ่นเป็นสีที่ใช้ผสมกับขี้เลื่อยโป๊ หรือ เชลแล็กให้ได้เนื้อสีที่ตรงตามออเดอร์ที่ลูกค้าอยากได้ โดยอัตราการใส่นั้นจะแตกต่างกันตามสีที่อยากได้เป็นอันดับแรก โดยช่างสีอาจจะต้องมีความประสบการณ์และความชำนาญพอสมควรในการผสมสีฝุ่นเพื่อให้ออกมาตามเนื้อสีหลัก แต่ปัจจุบันมีสีสำเร็จรูปแล้ว หากแต่ราคานั้นยังสูงกว่าการใช้ฝุ่นเหลือง , ฝุ่นแดง, ฝุ่นดำเป็นอย่างมากและชุมชนส่วนใหญ่จะเลือกใช้วิธีผสมสีตามความถนัดของตนเอง โดยสีฝุ่นที่ใช้หลักๆ ได้แก่ ฝุ่นเหลือง ฝุ่นแดง และ ฝุ่นดำ

#A10
น้ำสะอาด หรือ น้ำประปา (Water)
         
น้ำสะอาด หรือ น้ำประปา เพื่อใช้ในการผสมกับดินสอพองเพื่อทำขี้โป้ว หรือ กระบวนการลงแป้ง ให้อุดพื้นผิวไม้หรืออุดเสี้ยน น้ำประปานั้นจะมีตามบ้านเรือน หรือโรงงาน ทุกหลังอยู่แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายมากที่สุด

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ขั้นตอนที่ 1 อุดรอยตำหนิ และการขัด หรือการปรับพื้นผิว

ขั้นตอนและกระบวนการแปรรูปไม้

ขั้นตอนที่ 3 การทาเคลือบผิวด้วยแลกเกอร์ และ เก็บงาน