ขั้นตอนที่ 1 อุดรอยตำหนิ และการขัด หรือการปรับพื้นผิว



ขั้นตอนที่ 1 อุดรอยตำหนิ และการขัด หรือการปรับพื้นผิว
          การอุดรอยตำหนิ และการขัด หรือการปรับพื้นผิว เป็นการทำให้พื้นผิวไม้มีความเรียบและสวยงามก่อนที่จะถึงขั้นตอนการลงสีผลิตภัณฑ์ไม้ ซึ่งการอุดโป้วไม้นั้น เป็นขั้นตอนแรก ก่อนที่จะขัดเพื่อให้พื้นผิวเกิดความลื่น และ เรียบเนียนสวยงาม เรียกได้ว่าขั้นตอนนี้แทบจะเป็นขั้นตอนที่สำคัญเลยก็ว่าได้ เพราะถ้าทิ้งไว้โดยที่ไม่มีการอุดและขัด ก็จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของเราไม่สวยงาม และ ทำให้ลูกค้าปฏิเสธที่จะรับงา
ก่อนการทาสีต้องเตรียมพื้นผิวอย่างถูกต้อง การตกแต่ง และ ทำความสะอาดพื้นผิวก่อนการทาสี ถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องศึกษา และ ปฏิบัติ การเตรียมพื้นผิวมีขั้นตอนดังต่อไปนี้






1.1 การอุดรูตำหนิไม้

พื้นผิวไม้มักมีตำหนิต่างๆที่เกิดขึ้นจาก แมลง หรือ กระบวนการผลิตต่างๆ แต่สามารถทำให้เกิดความสวยงามได้ด้วยขี้โป้ว โดยจะใช้เหล็กโป้วปาดขี้โป้วแล้วไปป้ายตามรูตำหนิไม้ที่เกิดจากแมลง หรือ ร่องรอยห่างตามพื้นผิวไม้ หรือช่วงรอยต่อของไม้เมื่ออุดขี้โป้วไปที่รู การอุดรูตำหนิไม้ที่นิยมใช้งานแบ่งออกเป็น 3 ประเภทได้แก่
การอุดตำหนิไม้ที่เกิดจากแมลง หรือ ร่องไม้ขนาดใหญ่ ด้วยการใช้ ขี้เลื่อย ผสม กาวร้อน
1) เมื่อพบรอยรูไม้หรือกระพี้ไม้ขนาดใหญ่ให้นำขี้เลื่อยถม ให้เต็มรูไม้โดยใช้มือหยิบขี้เลื่อย
2) เมื่อเต็มแล้วเทกาวร้อนลงไปจะสังเกตว่าขี้เลื่อยจะยุบตามกาวร้อนให้นำขี้เลื่อยมาถมให้เต็มอีกครั้ง
3) ทิ้งไว้ให้ขี้เลื่อยแห้ง หรือ แข็งตัว จะเห็นว่าพื้นผิวยังไม่เรียบแต่ไม่ต้องตกใจ หากขี้เลื่อยอุดรูแห้งแข็งแล้ว ในลำดับต่อไปจะเป็นการขัดปรับหน้าพื้นผิวให้ไม้สวยงามได้

การอุดตำหนิไม้ที่เกิดจาก ร่องรอยตะปูตามพื้นผิวไม้ และ รอยห่างของไม้ที่เกิดจากกระบวนการประกอบ ด้วยการใช้ ขี้เลื่อย ผสม กาวลาเท็กซ์
1) นำขี้โป้วปั้นเป็นก้อน ก้อนอาจจะไม่ใหญ่มากและไม่เล็กมาก อาจจะสังเกตจากรูไม้ วางไว้เหนือรอยห่างไม้ หรือ ปาดขี้เลื่อยไว้ตรงปลายเหล็กโป้วก็ได้ตามความถนัด
2) กดปลายเหล็กโป้วแล้วปาดลงพื้นผิวที่เกิดตำหนิอย่างรวดเร็วให้ขี้โป้วอุดรูให้เต็มและเรียบเสมอกับพื้นผิวไม้จากนั้นใช้ผ้าเช็ดบริเวณรอบๆให้สะอาดไม่ควรมีขี้โป้วหลงเหลือออกมานอกบริเวณพื้นผิวไม้
3) เว้นระยะให้ขี้โป้วแห้งหรืออยู่ตัวประมาณ 30 นาที จะเป็นขั้นตอนการขัดในลำดับต่อไป
4) สังเกตดูที่ตำหนิว่าขี้โป้วเต็มแผ่นหน้าไม้หรือไม่ เช็คให้ละเอียดหากไม่มี ปฏิบัติตามการอุดตำหนิไม้ซึ่งเป็นขั้นตอนการโป้วงานที่ละเอียดโดยใช้ขี้โป้วแป้ง หรือ ขี้โป้วดินสอพอง
  
การอุดตำหนิไม้จากรอยตะปูตามพื้นผิวไม้ และ เก็บงานด้วยการใช้ ขี้เลื่อยแป้ง ที่มีส่วนผสม ดินสอพอง ผสม น้ำ
1) สังเกตรอยตะปู รูตะปู ที่พื้นผิวไม่เต็ม และเกิดความไม่สวยงาม
2) นำเหล็กโป้วตักขี้โป้วแป้งซึ่งผสมเรียบร้อยแล้ว
3) กดปลายเหล็กโป้วแล้วปาดลงพื้นผิวที่เกิดตำหนิอย่างรวดเร็วให้ขี้โป้วอุดรูให้เต็มและเรียบเสมอกับพื้นผิวไม้จากนั้นใช้ผ้าเช็ดบริเวณรอบๆให้สะอาดไม่ควรมีขี้โป้วหลงเหลือออกมานอกบริเวณพื้นผิวไม้
4) เว้นระยะให้ขี้โป้วแห้งหรืออยู่ตัวประมาณ 30 นาที จะเป็นขั้นตอนการขัดในลำดับต่อไป

การอุดตำหนิไม้จากรูมอด ด้วยการใช้ ดินสอพอง ผสม เชลแล็ก
1) สังเกตรอยมอดไม้ซึ่งเป็นรูที่ทำให้พื้นผิวผลิตภัณฑ์เกิดความไม่สวยงาม
2) นำเหล็กโป้วตักขี้โป้วแป้งซึ่งผสมเรียบร้อยแล้ว
3) กดปลายเหล็กโป้วแล้วปาดลงพื้นผิวที่เกิดตำหนิอย่างรวดเร็วให้ขี้โป้วอุดรูให้เต็มและเรียบเสมอกับพื้นผิวไม้จากนั้นใช้ผ้าเช็ดบริเวณรอบๆให้สะอาดไม่ควรมีขี้โป้วหลงเหลือออกมานอกบริเวณพื้นผิวไม้
4) เว้นระยะให้ขี้โป้วแห้งหรืออยู่ตัวประมาณ 10-20 นาที เนื่องจากขี้โป้ว ดินสอพองผสมเชลแล็กจะแห้งอย่างรวดเร็ว ให้ผสมในปริมาณที่ต้องการใช้ หรือเมื่อใช้แล้วควรเก็บให้มิดชิด

วิธีการทำขี้โป้วโดยใช้ ขี้เลื่อย ผสม กาวลาเท็กซ์
1) เตรียมวัสดุที่จะทำขี้โป้วซึ่งประกอบไปด้วย กาวลาเท๊กซ์ ขี้เลื่อยละเอียด หรือ ฝุ่นไม้ และ ฝุ่นเหลือง ฝุ่นแดง ฝุ่นดำ (ฝุ่นเหลือง ฝุ่นแดง ฝุ่นดำ จะเป็นตัวผสมให้ขี้โป้วมีสีตามเนื้อไม้ โดยอัตราจะขึ้นอยู่กับความต้องการของสี ตัวอย่างที่แนะนำคือ เมื่อต้องการสีไม้สักจะต้องผสม ฝุ่นเหลือง + ฝุ่นดำ + ฝุ่นแดงเล็กน้อย)
2) นำขี้เลื่อยมาผสมกับกาว (ผสมเหมือนกับการผสมแป้ง) โดยผสมกันในสัดส่วน ขี้เลื่อย 0.5 กิโลกรัม/กาวลาเท๊กซ์ ½ กระป๋อง แล้วจึงทำการนวดขี้เลื่อยกับกาวให้เข้ากันจนเป็นเนื้อเดียวกัน
3) เมื่อหยิบมาปั้นสามารถปั้นเป็นรูปทรงได้ หากต้องการแต่งสีของขี้โป้วก็สามารถแต่งได้ด้วย ฝุ่นเหลือง ฝุ่นแดง ฝุ่นดำ ตามอัตราส่วนของสีที่ต้องการ
4) เมื่อผสมเสร็จแล้วให้เก็บใส่ไว้ในถุงพลาสติกมัดอย่างดีไม่ให้โดนลม เพราะอาจจะทำให้ขี้โป้วแข็งตัวได้

วิธีการทำขี้โป้วแป้งโดยใช้ ดินสอพอง ผสม น้ำ และ ฝุ่นสี
1) เตรียมวัสดุที่จะทำขี้โป้วแป้งซึ่งประกอบไปด้วย ดินสอพองจำนวน 0.5 กิโลกรัม ผสมกับน้ำ 0.5 ลิตร
2) เทดินสอพองในภาชนะที่ใช้ผสมลงไป ตามด้วยการค่อยๆเทน้ำทีละนิด พร้อมกับนวดไปด้วยให้ดินสอพองเข้ากันดีกับน้ำ (ผสมเหมือนกับการผสมแป้ง) นวดให้เป็นเนื้อเดียวกัน
3) เมื่อหยิบมาปั้นสามารถปั้นเป็นรูปทรงได้ หากต้องการแต่งสีของขี้โป้วแป้งก็สามารถแต่งสีได้ด้วย ฝุ่นเหลือง ฝุ่นแดง ฝุ่นดำ ตามอัตราส่วนของสีที่ต้องการ
4) เมื่อผสมเสร็จแล้วให้เก็บใส่ไว้ในถุงพลาสติกมัดอย่างดีไม่ให้โดนลม เพราะอาจจะทำให้ขี้โป้วแป้งแข็งตัวได้

วิธีการทำขี้โป้วโดยใช้ ดินสอพอง ผสม เชลแล็ก
1) เตรียมวัสดุที่จะทำขี้โป้วแป้งซึ่งประกอบไปด้วย ดินสอพองจำนวน 0.5 กิโลกรัม ผสมกับเชลแล็ก 0.5 ลิตร
2) เทดินสอพองในภาชนะที่ใช้ผสมลงไป ตามด้วยการค่อยๆเทเชลแล็กทีละนิด พร้อมกับนวดไปด้วยให้ดินสอพองเข้ากันดีกับน้ำ (ผสมเหมือนกับการผสมแป้ง) นวดให้เป็นเนื้อเดียวกันเมื่อหยิบมาปั้นสามารถปั้นเป็นรูปทรงได้
3) เมื่อผสมเสร็จแล้วให้เก็บใส่ไว้ในถุงพลาสติกมัดอย่างดีไม่ให้โดนลม เพราะขี้โป้วดินสอพองและเชลแล็กจะแห้งอย่างรวดเร็ว

1.2 การเตรียมพื้นผิวด้วยการขัด
 

             ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากไม้สัก หรือ ไม้เนื้อแข็งต่างๆส่วนใหญ่เกิดจากการผลิตไม้คนละต้นเนื่องการกระบวนการแปรรูปไม้แผ่น ซึ่งอาจจะทำให้มีสีที่แตกต่างกัน หรือ บริเวณแผ่นไม้มีรอยกัดแทะจากแมลง ตลอดจน รอยตะปูที่เกิดจากระบวนการผลิต จนทำให้เกิดเป็นตำหนิของไม้ได้ ช่างทำสีจึงได้ทำการโป้วอุดรู เพื่อให้เกิดความสวยงามของพื้นผิวไม้ ก่อนที่นำมาขัดเพื่อปรับให้พื้นผิวมีความเรียบลื่น สม่ำเสมอกัน และไม่มีเสี้ยน เพื่อทำให้เกิดอันตรายจากการใช้งาน อีกทั้งยังทำให้พื้นผิวไม้มีความเรียบเนียนและสวยงาม ซึ่งจะมีขั้นตอนอย่างไรนั้น มาศึกษากัน
1) สังเกตผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป ตามมุมไม้ หรือตามพื้นผิวไม้ ว่ามีเสี้ยนมี รอยอะไรหรือไม่ จากนั้นขัด ด้วยเครื่องขัด หรือ เครื่องเตารีดที่ชาวบ้านชอบเรียกกัน โดยการใช้กระดาษทรายแดง เบอร์ 80 การใส่กระดาษทรายแดงได้อธิบายไว้ใน (#B6 เครื่องขัดกระดาษทราย) หากไม่มีเครื่องขัดสามารถนำใช้มือขัดได้โดยพับให้เป็นสีเหลี่ยมผืนผ้า หรือ พับขนาดเท่าครึ่งของครึ่งกระดาษ A4 ซึ่งได้อธิบายไว้ใน (วิธีการขัดไม้)
2) เมื่อเริ่มขัด จะต้องขัดตามแนวยาวของไม้หากขัดพื้นผิวไม้ด้วยเครื่องขัดควรขัดไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้ผิวไม้เรียบเนียนอย่างสม่ำเสมอ และในขณะที่ใช้เครื่องขัดตามแนวยาวไล่ไปเรื่อยๆ ผลิตภัณฑ์บางอย่างอย่างเช่นเตียงนอน ตู้เสื้อผ้า ตู้เอกสาร หรือ เก้าอี้ไม้ จะมีซอกและมุมอยู่ซึ่งจะเข้าถึงยาก จะต้องใช้มือขัดด้วยกระดาษทรายตามซอกหรือมุมให้ทั่ว ขัดทุกพื้นที่จนให้พื้นผิวของหน้าไม้เนียน หากจะถามว่าเนียนในที่นี้คือยังไง จะอธิบายได้ว่าเนียนคือการที่ใช้มือลูบแล้วพื้นผิวของเนื้อไม้จะลื่นๆ ไม่สากเหมือนตอนมาในครั้งแรก หากพื้นผิวไม้ยังไม่เนียนสามารถขัดซ้ำครั้งที่ 2 และ 3 ได้ จนกว่าพื้นไม้จะเรียบ
3) เมื่อขัดเรียบร้อยแล้วใช้ ไม้กวาดปัดฝุ่นไม้ที่เกิดจากการขัดออกให้หมด จนสะอาดอย่าให้เหลือ สังเกตตามซอก และ มุมของผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป เพื่อฝุ่นไม้จะได้ไม่ติดไปในขั้นตอนการลงสี

วิธีการขัดไม้
1) การขัดด้วยมือพับกระดาษทรายเป็น ครึ่งของครึ่ง A4 โดยให้ด้านที่เป็นกระดาษเข้าหากัน ให้เป็นด้านทรายทั้ง 2 ด้านใช้ฝ่ามือและนิ้วโป้งประคองประดาษทรายแผ่นดังกล่าว
2) การขัดพื้นผิวหน้าไม้จะใช้กระดาษทรายแดงหรือกระดาษทรายเบอร์ 80 ซึ่งเป็นกระดาษทรายหยาบเป็นอันดับแรก จากนั้นเมื่อถึงขั้นตอนการทาเชลแล็กและแลกเกอร์จะเปลี่ยนเป็นกระดาษทรายขัดไม้ที่มีความละเอียดเบอร์ 0 ที่ส่วนใหญ่นิยมใช้
 3 การขัดไม้ที่อยู่ในบริเวณขอบไม้ด้วยมือควรขัดให้ทั่ว บริเวณไหนที่ยังมีความสาก ก็ต้องออกแรงขัดบริเวณนั้นจนกระทั่งพื้นผิวลื่น
4) เมื่อขัดเสร็จแล้วใช้ ไม้กวาดปัดฝุ่นออกให้หมด 

ตัวอย่างการขัดโต๊ะหมู่บูชา
          1) เริ่มจากการขัดหน้าไม้ ได้แก่บริเวลาพื้นผิวหน้าของโต๊ะหมู่ให้ทั่วโดยขัดตามแนวยาวของไม้
          2) เมื่อขัดพื้นผิงหน้าของโต๊ะหมู่เรียบร้อยแล้ว ให้ไล่ลงไปขัดที่บริเวณขาของโต๊ะหมู่โดย
          3) ขัดให้ทั่วทุกพื้นที่ รวมถึงตามซอกขาไม้ทั้ง 4 ขา
          4) ในขณะการขัดไม่ควรกดน้ำหนักลงที่มุมโต๊ะ หรือ ขา เพราะจะทำให้กินเนื้อไม้ทำให้เกิดความเสียหาย
          5) เมื่อขัดเรียบร้อยแล้ว ใช้ไม้กวาดปัดฝุ่นออกให้หมด เตรียมทาเชลแล็กในขั้นตอนต่อไป

          จะเห็นได้ว่า การขัดนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ยากมากนั้น แต่ควรจะระวังเรื่องการขัดเหลี่ยมหรือมุมเพื่อไม่ให้เนื้อไม้เสียหาย หรือผลิตภัณฑ์บางชิ้นจะมีการแกะสลักไม้เป็นลวดลายต่างๆ ควรจะขัดแบบระมัดระวังไม่ให้ลายแกะสลักเสียหาย


       การลงแป้ง **
สำหรับขั้นตอนนี้จะเป็นงานละเอียดและจะเป็นงานที่ปฏิบัติกันมาเป็นเวลานานแต่ส่วนใหญ่แล้วโรงงานอุตสาหกรรมจะไม่ค่อยนิยมทำในขั้นตอนนี้ เพราะเป็นการลดทอนเวลาและขั้นตอนในกระบวนการทำให้เสร็จเร็วขึ้นแต่จะไปเน้นในกระบวนการขัดและอุดรอยตำหนิไม้ในขั้นตอนแรกให้เรียบร้อยและเสร็จสิ้นในกระบวนการนั้นเลย หากแต่ผู้ใดสนใจหรือมีเวลาในการลงสีผลิตภัณฑ์ไม้มากสามารถทำในขั้นตอนนี้ได้เพราะการลงแป้งนั้นจะทำให้ประหยัดเชลแล็กได้
1) การลงแป้งหรือตีแป้งใช้ดินสอพอง 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 1 ลิตร และ ฝุ่นเหลือง ฝุ่นแดง ฝุ่นดำ ตัวอย่างอัตราส่วนผสมตามสีเนื้อไม้ ฝุ่นเหลือง 3 ช้อนโต๊ะ + ฝุ่นแดง ½ ช้อนโต๊ะ และ ฝุ่นดำ ½ ช้อนโต๊ะตัวอย่างอัตราส่วนผสมตามสีโอ๊คหรือสีดำ ฝุ่นดำ 3 ช้อนโต๊ะ + ฝุ่นแดง 1 ช้อนโต๊ะ + ฝุ่นเหลือง + ½ ช้อนโต๊ะ หรืออาจจะปรับตามสีที่อยากได้ได้ตามความชอบและความถนัด
2) เมื่อผสมส่วนผสมทั้ง 3 อย่างเข้าด้วยกัน คนให้เข้ากันให้ดินสอพองและฝุ่นละลายไม่จับตัวเป็นก้อนเมื่อเข้ากันแล้วใช้ผ้าชุบส่วนผสมทาลงไปบนพื้นผิวไม้ให้ทั่ว
3) รอให้แป้งแห้งโดยใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที
4) เมื่อแห้งแล้วขัดด้วยกระดาษทรายผ้าหรือกระดาษทรายเบอร์ 320 สำหรับขัดฝุ่นแป้ง เพื่อขัดให้แป้งที่เราตีออก ปัดฝุ่นแป้งออกจากซอกให้หมดก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการทาเชลแล็กในลำดับต่อไป

สำหรับขั้นตอนการขัดเพื่อปรับหน้าพื้นผิวของผลิตภัณฑ์ก่อนกระบวนการลงสีนั้นจะมีตามขั้นตอนที่ได้กล่าวมานี้ แต่การขัดยังไม่ได้หมดเพียงเท่านี้ แต่จะต้องนำไปใช้ในขั้นตอนการลงเชลแล็กและแลกเกอร์อีกเมื่อให้ได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพและสวยงามตามที่ลูกค้า หรือ ผู้ใช้งานต้องการ

** หมายถึง เป็นขั้นตอนที่ปฏิบัติกันมาเป็นเวลานานและอาจจะมีปฏิบัติบ้างในบางครัวเรือนที่เป็นธุรกิจครอบครัว เพื่อเป็นการประหยัดเชลแล็ก

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ขั้นตอนและกระบวนการแปรรูปไม้

ขั้นตอนที่ 3 การทาเคลือบผิวด้วยแลกเกอร์ และ เก็บงาน